ประวัติ อโรคยศาล วัดคำประมง

อโรคยศาลวัดคำประมง สถานอภิบาลพักฟื้นผู้ป่วยด้วยสมุนไพรตามธรรมชาติ

อโรคยศาล หมายถึง สถานอภิบาลพักฟื้นผู้ป่วยด้วยสมุนไพรตามธรรมชาติไปจนกว่าอาการของผู้ป่วยจะทุเลาเบาบางลงไป หรือหมดไปสิ้นไปด้วยวิถีแห่งธรรมะและธรรมชาติบำบัดและหรือการแพทย์แบบองค์รวม

ประวัติความเป็นมาของอโรคยศาล

อโรคยศาลมีความเป็นมาจากอารยธรรมขอม ในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ยุคนั้นมีการเกณฑ์ผู้คนมากมายในการสร้างปราสาทวิหาร การก่อสร้างก็ใช้ระยะเวลาในการสร้างยาวนานหลายสิบปี ผู้คนมากมายต่างก็ล้มป่วยด้วยโรคต่างๆ นานาชนิด จึงเกิดความเชื่ออย่างหนึ่งว่า ถ้ามีการก่อสร้างปราสาทต่างๆ ให้จัดทำสถานที่อภิบาล บำบัดรักษาผู้ป่วยก่อน ซึ่งสถานที่นี้เรียกกันว่า อโรคยศาล เพื่อให้ผู้คนหายจากอาการเจ็บป่วยและมีเรี่ยวแรงในการสร้างปราสาท สร้างวิหารให้สำเร็จต่อไป (จากหนังสือสมาธิบำบัดกับการรักษาโรคมะเร็ง, ๒๕๕๐)

วัตถุประสงค์ของ อโรคยศาล วัดคำประมง เกิดขึ้นเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์(ทุกชาติศาสนา) ที่มีความทุกข์อันเกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่รุนแรงโดยเฉพาะโรคมะเร็ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

เป้าหมายของการรักษา ไม่ได้อยู่ที่จะรักษาโรคให้หายหรือทุเลาเบาบางลงไปแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่อยู่ที่สามารถตอบสนองความต้องการตามธรรมชาติของผู้ป่วย ที่ต้องการความเข้าใจชีวิตและมีความสุขในช่วงที่เจ็บป่วย ถ้าหากว่าจะต้องเสียชีวิตก็เสียชีวิตไปอย่างสุขสงบ (ตายแบบยิ้มได้) อยู่บนพื้นฐานของการปฏิบัติตามแนวทางศาสนาและวิทยาศาสตร์การแพทย์ ญาติและผู้ป่วยก็จะได้รับประโยชน์จากการช่วยดูแลผู้ป่วย ซึ่งจะมีผลในการปรับทัศนคติในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และสามารถเข้าใจและดูแลตนเองไม่ให้ป่วยเป็นมะเร็งต่อไป

วัตถุประสงค์ในการดำเนินงาน

  1. เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งทุกชนิด ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้

    - ผู้ป่วยมะเร็งในระยะสุดท้าย ที่ไม่สามารถบำบัดรักษาให้ดีขึ้นด้วยกระบวนการรักษาที่ดีที่สุด ในการแพทย์แผนปัจจุบันที่มี หรือมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดี ( Poor Prognosis ) เช่น มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี เป็นต้น

    - ผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการบำบัดรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน หรือแผนอื่นมาบางส่วนแล้ว และต้องการการบำบัดรักษาเพิ่มเติมอย่างผสมผสานที่อโรคยศาล วัดคำประมง

    - กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ต้องการจะรักษาด้านแผนปัจจุบัน และต้องการเข้ารับการบำบัดโดยวิธีนี้

    - กลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงและมีแนวโน้มว่าอาจจะเป็นมะเร็ง เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัส Hepatitis B และผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่สามารถเข้ารับการรักษาแบบแผนปัจจุบันที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง หรือกลุ่มผู้ป่วยต้องการรักษาทางการแพทย์แผนไทยด้วยสมุนไพรเท่านั้น



  2. เพื่อเป็นการผสมผสานแนวทางการรักษาแบบแผนไทย แผนจีน แผนตะวันตก และการรักษาอื่น ๆ ตามแนวทางของการแพทย์ทางเลือก โดยยึดความประสงค์ของผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง เป็นความสมัครใจของผู้ป่วยเอง ในการที่จะเลือกแนวทางการรักษา เป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ (โดยเฉพาะผู้ป่วยมะเร็ง) โดยไม่เรียกร้องหรือคิดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

012